ความหมาย

นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้คล้ายคลึงกันดังนี้
         “คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ”หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ซีเอไอ  มาจากภาษาอังกฤษว่า Computer-Assisted Instruction หรือ Computer – Aided Instruction ซึ่งราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “การสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน” แต่คำศัพท์ดังกล่าวไม่เป็นที่นิยม แต่มักจะใช้คำว่า “คอมพิวเตอร์ช่วยสอน” กันมากกว่าอย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าหากเติมคำว่า “บทเรียน” เข้าไปข้างหน้า โดยใช้เป็น “บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน” จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้จึงขอให้คำว่า “บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน” ในความหมายเดียวกับคำในภาษาอังกฤษว่า Computer-Assisted Instruction หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า CAI  (พรเทพ เมืองแมน, 2544 : 7)
                          บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โดยทั่วไปมักเรียกว่า “คอมพิวเตอร์ช่วยสอน” หรือ “บทเรียนซีเอไอ” (Computer-Assisted Instruction; Computer-Aid Instruction : CAI) มีความหมายว่าเป็นการจัดโปรแกรมเพื่อการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อช่วยถ่ายโยงเนื้อหาความรุ้ไปสู่ผู้เรียน และปัจจุบันได้มีการบัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกสื่อชนิดนี้ว่า “คอมพิวเตอร์ช่วยสอน” (วุฒิชัย ประสารสอย, 2543:10)
                          บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ เรียนสั้น ๆ ว่า บทเรียน ซี เอ ไอ เป็นบทเรียนที่ประกอบด้วยเนื้อหาสื่อประสมและอาจมีการใช้คุณลักษณะของสื่อหลายมิติในการเชื่อมโยงไปยังหัวข้อย่อยเพื่อสะดวกในการเรียน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากเนื้อหาซึ่งมีทั้งข้อความ ภาพ และเสียง มีการตอบสนองกับบทเรียน โดยการทำแบบทดสอบ และได้รับผลป้อนกลับทันทีทำให้สามารถประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองได้ (กิดานันท์    มลิทอง, 2548 : 202)
                          บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นบทเรียนที่ได้รับการออกแบบ โดยอาศัยศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในด้านการนำเสนอ ที่สามารถนำเสนอบทเรียนในลักษณะของสื่อประสม (Multimedia) คือ นำเสนอได้ทั้งข้อความ กราฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วีดีทัศน์ และเสียง นอกจากนี้ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนยังเป็นบทเรียนที่ผู้เรียนสามารถหรือมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับบทเรียน พร้อมทั้งได้รับผลย้อนกลับ (Feedback) อย่างทันทีทันใด รวมทั้งสามารถประเมินและตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนได้ตลอดเวลาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จึงเป็นบทเรียนที่สามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
                          นอกจากคำว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) แล้ว ยังมีคำศัพท์อีกหลายคำที่เกี่ยวข้องกับการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการศึกษา แต่มีความหมายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของการนำมาใช้ ได้แก่ (จักรพันธ์ ไกรสมเดช, สุนทร อินทะเสน, 2547 : 6-7)
                          CAL : Computer Assisted Learning (คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียน)
                          CALL :       Computer Assisted Language Learning (คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนภาษา)
                          CBT :          Computer Based Training (Teaching) (การสอน การอบรมที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นหลัก)
                          CBL :          Computer Based Learning (การเรียนที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นหลัก)
                          CBI :            Computer Based Instruction (การสอนที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นหลัก)
                          CMI :           Computer Managed Instruction (การใช้คอมพิวเตอร์จัดการในการสอน) ฯลฯ
          บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง บทเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยในการเรียนการสอนโดยที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากบทเรียนที่ได้มีการออกแบบไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียน โดยผ่านทางแป้นพิมพ์ เมาส์ หรือเสียงพูด เป็นต้น ซึ่งบทเรียนอาจนำเสนอในลักษณะของสื่อประสม ที่มีทั้งข้อความ กราฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงประกอบ นอกจากนั้นยังอาจใช้สื่ออย่างอื่น ได้แก่ สไลด์ เทป หรือ            วีดีทัศน์ร่วมด้วย  เพื่อช่วยให้บทเรียนน่าสนใจและให้ผลการเรียนที่ดียิ่งขึ้น (พรเทพ เมืองแมน, 2544 : 7)                            
          บทเรียนคอมพิวแตอร์ช่วยสอน หมายถึง การจัดโปรแกรมเพื่อการเรียนการสอน โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อช่วยถ่ายโยงเนื้อหาความรู้ ไปสู่ผู้เรียน  (วุฒิชัย   ประสารสอย,2543 : 9 - 10 ) สมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษากล่าวถึงคอมพิวเตอร์ช่วยสอนดังนี้
                        1. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ เทคนิคการสอนที่อยู่บนพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์
แบบสองทาง ระหว่างผู้เรียนและคอมพิวเตอร์เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ของผู้เรียน
                       2. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ เทคนิคการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์สอนผู้เรียนโดยบรรจุ
บทเรียนเพื่อเสนอสาระ แนะนำการควบคุมและการทดสอบผู้เรียนลงในคอมพิวเตอร์
             3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ เทคนิคการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมการ
นำเสนอสิ่งเร้าต่อนักเรียน เพื่อที่จะรับรู้และประเมินการตอบสนองของผู้เรียน เน้นที่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์
                     4. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ เทคนิคการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสอนรายบุคคล โดยยึดหลักการตอบสนองของผู้เรียนในรูปแบบต่าง ๆ ในการออกแบบบทเรียน
                คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง สื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่งซึ่งใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอสื่อประสมกัน ได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง กราฟิก แผนภูมิ กราฟ ภาพเคลื่อนไหว วีดีทัศน์และเสียง เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียนหรือองค์ความรู้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการสอนจริงในห้องเรียนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการได้มาซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนและกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นตัวอย่างที่ดีของสื่อการศึกษาในลักษณะตัวต่อตัว ซึ่งผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์หรือการโต้ตอบพร้อมทั้งการได้รับผลป้อนกลับอย่างสม่ำเสมอกับเนื้อหาและกิจกรรมต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนยังเป็นสื่อที่สามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างผู้เรียนได้เป็นอย่างดีรวมทั้งสามารถที่จะประเมินการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนได้ตลอดเวลา (ถนอมพร เลาหจรัสแสง , 2541 : 7 )       
          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเสนอเนื้อหาให้แก่ผู้เรียน โดยใช้วิธีการเผยแพร่การสอนผ่านช่องทางสื่อสารไปยังผู้เรียนโดยเน้นการสอนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างอิสระตามความสามารถของแต่ละคน (กฤษดา  เพ็งอุบล,2542 :2 )
          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง สื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่งในการนำเสนอสื่อประสม ได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว กราฟฟิก กราฟ แผนภูมิ วีดีทัศน์และเสียง เพื่อที่จะถ่ายทอดเนื้อหาในลักษณะใกล้เคียงกับการสอนในห้องเรียนให้มากที่สุดและเพื่อถึงดูดความสนใจของผู้เรียน ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลพร้อมทั้งประเมินและตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนได้ (อรนุช  ลิมตศิริ,2546 : 200 )
                คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึงโปรแกรมการเรียนการสอนที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความมุ่งหมายของรายวิชาอย่างมีประสิทธิภาพ (ไชยยศ    เรืองสุวรรณ,2546 : 5 )
          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการรับรู้ของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนได้ศึกษาเนื้อหาด้วยตนเองตามความพร้อมความถนัดและความสนใจ (สุวิมล  เขี้ยวแก้ว, 2543 : 2 )
          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง วิถีทางของการสอนรายบุคคลโดยอาศัยความสามารถรายบุคคลโดยอาศัยความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะจัดหาประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กันมีการแสดงเนื้อหาตามลำดับที่ต่างกัน (บุญเกื้อ    ควรหาเวช,2542 : 65)
          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง บทเรียนที่ได้จัดกระทำไว้อย่างเป็นระบบเพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์โดยทางการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องการสอนกับผู้เรียนและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ ( Interaction ) โดยตรงตามความสามารถ (กฤษมันต์   วัฒนาณรงค์, 2536 : 136 )
          คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อช่วยขยายขอบเขตความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน และความสามารถของการสอนของครู โดยการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ขึ้นมา และใช้คอมพิวเตอร์ในการนำเสนอบทเรียน ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยมีการนำสื่อประสมเข้ามาช่วยในการนำเสนอ เช่น ข้อความ เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ผู้เรียนได้รับผลย้อนกลับ และเมื่อเรียนจบ ผู้เรียนจะได้รับการประเมินผลการเรียนรู้ของตน และทราบผลการเรียนรู้ของตน (ทิศนา  แขมมณี, 2550 : 151)
   คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์ในการสอนรายบุคคลโดยใช้โปรแกรมที่ดำเนินการสอนภายใต้การควบคุมของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความก้าวหน้าตามอัตราของตนเอง เป็นการสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน       (บุญชม  ศรีสะอาด,2537 : 123)
สรุปว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนที่มีทั้งในส่วนของเนื้อหาและแบบฝึกหัด โดยการนำเสนอในรูปแบบของมัลติมิเดีย คือ มีทั้งกราฟิก รูปภาพ ข้อความ ภาพนิ่ง แผนภูมิ กราฟ ภาพเคลื่อนไหว วีดีทัศน์ เสียงประกอบ การนำเสนอที่ทำให้ผู้เรียนสนุกสนานไปกับการเรียนและมีการให้ข้อมูลย้อนกลับทำให้สามารถประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ และเกิดการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน